หนุ่มสาวโปรดระวัง เมื่อโรคกระดูกพรุนไม่ได้เป็นแค่ในผู้สูงอายุ

โรคกระดูกพรุนคืออะไร

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ โรคที่ความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดต่ำลง ซึ่งก็จะทำให้กระดูกมีสภาพเสื่อม เปราะ บาง ผิดรูปและแตกหักได้ง่าย ในบางรายทำให้ส่วนสูงลดลงด้วยเพราะกระดูกผุกร่อน ทำให้กระดูกไม่สามารถทำงานหรือเคลื่อนไหวได้ตามปกติ เช่น การทนรับน้ำหนัก แรงกระแทก หรือแรงกดได้น้อยลง เพราะความเจ็บปวดจากรอยแตกร้าวภายในไปจนถึงการแตกหักของกระดูกส่วนสำคัญ ร้ายแรงที่สุดคืออาจส่งผลทำให้พิการหรือถึงแก่ชีวิตได้

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าในสังคมยุคปัจจุบัน วิถีชีวิตของผู้คนเองก็มีส่วนทำให้กระดูกมีสภาพเสื่อมเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น การไม่ค่อยออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ทานอาหารแคลเซียมต่ำ ไปจนถึงน้ำอัดลม

สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงเช่นนั้น หากเกิดเหตุที่ทำให้กระดูกหักแล้ว ก็อาจส่งผลต่อการรักษาเป็นเวลานาน และไม่สามารถทำงานได้ตามปกติได้อย่างที่ควร

ทั้งนี้ มีการพบว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุนมากที่สุดก็คือ “สตรีวัยหมดประจำเดือน” อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่

สำหรับสตรีหมดประจำเดือนไม่ว่าจะเป็นเพราะการหมดตามธรรมชาติ หรือไม่ว่าเพราะผ่าตัดตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างก็ตาม ก็จะส่งผลทำให้กระดูกมีสภาวะของการสึกหรอมากยิ่งขึ้น ดังนั้นสตรีในวัยหมดประจำเดือน จึงมีความเสี่ยงสูงต่ออาการนี้มาก ไม่แพ้ผู้สูงอายุเลยครับ

สรุปปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคกระดุกพรุน

  • การบริโภค ที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการสร้างกระดูกและการเจริญเติบโต หรือทานอาหารที่ทำให้แคลเซียมเสียสมดุล เช่นพวกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ซึ่งมีความเป็นกรดสูง น้ำอัดลม ชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ติดต่อกันปริมาณมากเป็นเวลานาน
  • ฮอร์โมน เนื่องจากการลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิง การเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระดูกพรุนและเปราะบางลง ส่วนในเพศชายจะมีความเสี่ยงเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อมีการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ลดน้อยลง ทั้งนี้เพศหญิงจะมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชาย 
  • เรื่องอายุ เมื่ออายุมากขึ้น ความหนาแน่นของมวลกระดูกก็จะต่ำลงเป็นเรื่องปกติ การบริโภคแคลเซียมจึงเป็นเรื่องจำเป็นในวัยนี้  น้ำหนักตัว คนที่มีรูปร่างผอมและมีมวลกระดูกน้อย จะมีโอกาสเป็นกระดูกพรุนมากกว่าคนอ้วน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอ้วนจะไม่มีโอกาสเป็น เพราะโดยพฤติกรรมของคนอ้วนที่มักบริโภคอาหารบางประเภท เช่น น้ำอัดลม ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนเช่นกัน 
  • พฤติกรรมในการใช้ชีวิต ผู้ที่พักผ่อนน้อย สูบบุหรี่จัด ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำ ย่อมมีโอกาสที่จะกระดูกพรุนมากกว่าคนปกติ และผู้ที่ไม่ออกกำลังกายก็มีความเสี่ยงสูง 
  • โรคและการเจ็บป่วย ซึ่งผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนอาจเกิดจากการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆได้ เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับตับ ไต กระเพาะ ลำไส้อักเสบ ทางเดินอาหาร กรดไหลย้อน ความผิดปกติทางการกิน โรคภูมิแพ้ตัวเอง ข้ออักเสบ ไปจนถึงโรคมะเร็งเม็ดเลือด มะเร็งกระดูก 
  • การใช้ยาเป็นเวลานาน เช่นผู้ป่วยและต้องรักษาด้วยการใช้ยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์ ก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนด้วย  
  • พันธุกรรม หากญาติทางฝ่ายมารดาเคยเป็นภาวะกระดูกพรุนและกระดูกหัก เราก็จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดกระดูกหักไปด้วย

ทางป้องกันอาการของโรคกระดูกพรุน

การบริโภคอาหารและอาหารเสริมจำพวกแคลเซียมและวิตามินดี โดยปริมาณแคลเซียมที่คนเราควรได้รับต่อวันก็คือประมาณ 1,200 – 1,500 มิลลิกรัม ต่อวัน อย่างไรก็ตาม การได้รับมากเกินไปก็ไม่มีประโยชน์เท่าไรนัก เพราะร่างกายมีสมรรถภาพในการดูดซับแคลเซียมต่อวันได้จำกัด

แล้วยังควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนและมีค่าความเป็นกรดสูง เพราะจะมีผลกระทบทำลายการสร้างกระดูกได้ ถ้าต้องการทานหรือดื่ม ก็ควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม ขณะเดียวกันก็ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหมเกินไป และควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสมด้วย แต่ทั้งนี้การออกกำลังกายโดยเฉพาะประเภทที่ต้องลงน้ำหนัก เช่น เล่นฟุตบอล บาสเกตบอล วิ่ง กระโดด หากเล่นอย่างสม่ำเสมอและพอประมาณ ไม่หนักเกินไป ก็จะสามารถเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก และช่วยลดการสูญเสียมวลกระดูกแม้เข้าสู่วัยทองก็ตาม
คุยผ่านเฟสบุ๊ค
เพิ่มเพื่อน แชทไลน์
tel โทรติดต่อ
สอบถาม